สัปดาห์ที่แล้ว ทางสื่อใหม่ได้รับแจ้งการปรากฏภาพผู้ประกาศวราวิทย์ของเรา ไปถูกตัดต่อประกอบการโฆษณาขายสินค้าที่ไม่เหมาะสม และถูกพบบนเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถืออย่างสำนักข่าวใหญ่ ๆ ที่ได้รับแจ้งมาคือ พบที่เว็บไซต์กระปุกดอทคอม, ไทยรัฐออนไลน์ และมติชน เลยอยากนำเทคนิคการสังเกตและเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ Ads. หรือเทคนิคการโฆษณาประเภทนี้มาแบ่งปันกันค่ะ
เดี๋ยวนี้..ถ้าเราเข้าไปอ่านเว็บไซต์ข่าว เรามักจะพบข่าวต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของสำนักข่าวนั้น ๆ ทำเอง และจะมีบางพื้นที่ของหน้าเว็บ เปิดไว้เพื่อใส่ Code program ที่ให้แสดงผลของโฆษณา โดยพื้นที่นี้จะสุ่มโฆษณาจากระบบอัตโนมัติ (ไม่สามารถควบคุมและเลือกได้จากเจ้าของเว็บไซต์) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการสร้างรายได้ให้กับเว็บไซต์ แต่โฆษณาประเภทนี้ ไม่ใช่แค่ตำแหน่งการวางที่ปะปนอยู่ในคอลัมน์ข่าว แต่จะมีรูปแบบการเล่าเรื่อง ให้ไม่ดูเป็นโฆษณา แบบตีเนียนไปกับเนื้อหา เรียกกันว่า Native Ads.
เนื้อหาแบบนี้คืออะไร?
Native Ads. เป็นรูปแบบการทำโฆษณาในเชิงคอนเทนต์ความรู้ หรือข่าว แทนการเขียนแบบขายตรงๆ เพื่อให้เนียนฝังไปกับคอนเทนต์ของเจ้าของเว็บ เช่น พวกเว็บไซต์ข่าว จนคนอ่านแทบจะแยกไม่ออก หรืออาจเข้าใจว่าเป็นข่าวของเว็บไซต์ข่าวนั้น ๆ เพื่อจูงใจให้คนอยากคลิกเข้าไปอ่าน (เพราะเอาจริง ๆ เรามักจะไม่ชอบถ้าเป็นโฆษณา Hard sale ตรง ๆ) และวางในตำแหน่งเดียวกับคอลัมน์ของเนื้อหาหลัก ซึ่งถ้าเราไม่สังเกตก็อาจจะคลิกเข้าไปและเข้าใจว่าเป็นข่าว โดยระบบการเลือกโฆษณามาแสดงใช้หลัก AI และอัลกอริธึมหรือกลไกทางเทคโนโลยี เพื่อเลือกชิ้นโฆษณาที่เข้ากับแต่ละเว็บไซต์และกลุ่มผู้อ่าน ทำให้คนอ่านจะได้รับโฆษณาที่ใกล้เคียงกับเนื้อหาของเว็บไซต์นั้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกคลิกอ่านมากขึ้น เนียนจนแทบแยกไม่ออกเลยทีเดียว เทียบกับการทำทีวีก็คล้ายกับการ Tie-in สินค้าในรายการนั่นเองค่ะ
Native Ads. ได้รับความนิยม และได้รับการตอบรับดีกว่า การทำโฆษณาแบบแบนเนอร์ชิ้น ๆ วางแปะบนเว็บไซต์ ซึ่งแบบนั้นคนท่องเว็บจะแยกออกชัดเจนว่าเป็นชิ้นโฆษณา (ก็จะไม่อยากคลิก) และการแสดงผลก็มีหลายแบบ ไม่ใช่แค่ปนอยู่กับคอลัมน์ข่าวเท่านั้น
จากภาพด้านล่าง ในคอลัมน์ข่าวเดียวกัน ข่าวที่เป็นของไทยรัฐเอง คือกลุ่ม A แต่กลุ่ม B คือ Native Ads. นั่นเอง ซึ่งจะวางปะปนไปกับข่าวไทยรัฐ
สังเกตได้อย่างไรว่า เนื้อหาไหนคือข่าว เนื้อหาไหนคือการโฆษณา
ในฐานะคนอ่านข่าวออนไลน์ อาจต้องรู้หลักในการแยกแยะ เพื่อไม่ให้เผลอคลิกหรือหลงเชื่อกับข่าวที่มาในรูปแบบโฆษณา
- ภาพปก หรือภาพประกอบข่าว : จะเป็นคนละรูปแบบกัน โดยเฉพาะสำนักข่าวที่มีอัตลักษณ์เด่นชัด เช่น สี แบบตัวอักษร โลโก้ หรือสไตล์ภาพที่ใช้ก็จะเป็นแบบมีการตัดต่อหรือใช้ภาพแปลก ๆ
- รูปแบบการพาดหัวข่าว : บรรดาเนื้อหาประเภทโฆษณา มักจะมีสไตล์การพาดหัวข่าวที่กระตุ้นและเรียกให้มีการคลิกเข้าไปอ่าน ไม่บอกทั้งหมด ใช้สำนวนภาษาสไตล์ Click bait เพราะการคลิกเข้าไป นั่นคือการถูกนับจำนวนคลิกและเป็นที่มาของรายได้
- การแสดงตัวอักษรสีเทาเล็ก ๆ กำกับไว้ เช่น คำว่า PR, Sponsored : เพื่อเป็นการกำกับบอกว่านี่เป็นคอนเทนต์ที่เป็นข่าว PR หรืออาจจะระบุเพิ่มว่าเป็นของสินค้าแบรนด์ไหน เรียกว่าบอกไว้แล้วนะ ว่านี่คือข่าว PR (แต่ก็อาจจะทำตัวเล็ก ๆ สีเทาจาง ๆ ให้ไม่เด่นชัดมาก)
ในธุรกิจการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ การแสดงผลของ Native Ads. แบบนี้ก็คือว่าไม่ได้เป็นเรื่องผิด หรือไม่เหมาะสม เป็นเพียงอีกหนึ่งรูปแบบการสื่อสาร การทำโฆษณาที่พยายามทำการจูงใจผู้อ่าน และเจ้าของสินค้าที่มาลงโฆษณาก็มีความหลากหลาย เรียกว่ามาจากทั่วโลกโดยลงโฆษณาผ่านเจ้าของแพลตฟอร์มที่มีระบบให้บริการ ที่เรียกกันว่า Ad Network ซึ่งมักเป็นของเมืองนอกมีหลายเจ้าดัง ๆ อาทิ Google, Yengo, Taboola, Popin
แต่สำหรับผู้ลงโฆษณาที่ใช้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ละเมิดลิขสิทธิ์การใช้ภาพ มีการตัดต่อ ดัดแปลง สร้างความเข้าใจผิด เหมือนในกรณีที่ไทยพีบีเอสถูกปลอมแปลงนำภาพผู้ประกาศข่าวไปตัดต่อเพื่อประกอบภาพขายสินค้า เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ หากเจอกรณีแบบนี้ เราควรทำอย่างไร?
- อย่าคลิกเข้าไปอ่าน เพราะนั่นจะเป็นการช่วยเพิ่มยอดจำนวนคลิก และตามมาด้วยรายได้ให้กับผู้ลงโฆษณา แถมยังเสี่ยงกับการเข้าไปยังเว็บไซต์ที่อาจไม่ปลอดภัย และไม่เหมาะสมอีกด้วย นอกจากนี้การคลิกเข้าไป จะทำให้ Ad Network รู้ว่าคุณเป็นผู้ที่สนใจโฆษณาประเภทนี้ สไตล์นี้ จากนั้นโฆษณาแบบนี้ก็จะตามไปแสดงผลในเว็บหรือ Social Media ต่าง ๆ ของคุณ อย่างที่บอกไว้ตอนต้นนะคะว่ามันเป็นการทำงานแบบ AI จับพฤติกรรมลูกค้าเพื่อให้นำเสนอสิ่งที่ใกล้เคียงกับลูกค้าต้องการมากที่สุด
- ทำการ captures ภาพและคลิกขวาที่โฆษณานั้น แล้วเลือก copy link และส่งลิงก์กับภาพที่ถูกละเมิดนั้น ส่งมายังสำนักสื่อใหม่ที่อีเมล NewMediaTeam@thaipbs.or.th เพื่อทำการติดต่อไปยังแพลตฟอร์มที่ทำระบบยิงโฆษณา ซึ่งในกรณีนี้คือ Popin (แพลตฟอร์มโฆษณา Native ads รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน เพิ่งมาเปิดให้บริการในไทยช่วงปลายปี 2562)