ย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่ายผ่าน Data Visualization

ใครก็ตามที่อยู่ในสายงาน หรือ สนใจใคร่รู้เรื่องราวในโลกข้อมูล (Data) คงทราบดีว่า การทำงานกับข้อมูลมหาศาล หลายครั้งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ยิ่งปริมาณข้อมูลมากเท่าไหร่ ยิ่งเท่ากับเวลา กำลังสมอง และพลังกาย ที่ต้องใส่เข้าไปมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งใจความสำคัญที่ซ่อนอยู่ใต้ชุดข้อมูล หลายครั้งคนทำงานมักติดอยู่ท่ามกลางความสลับซับซ้อน การกระจัดกระจาย และไร้รูปแบบ ซึ่งยิ่งทำให้การนำข้อมูลเหล่านั้นมาบอกต่อเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าข้อมูลต่าง ๆ ปราศจากเรื่องราว เพียงแต่มันอาจยังไม่ถูกทำให้มองเห็น (Visible)

ความท้าทายเหล่านี้ กลายเป็นที่มาของ The Visual บริการใหม่จากองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ที่เน้นสื่อสารด้วย Data Storytelling และ Data Visualization โดยมุ่งหยิบยกประเด็นสำคัญใกล้ตัว อันผูกโยงกับข้อมูลมหาศาล ที่ใครหลายคนอาจไม่ทันสังเกตหรือมองข้าม มาบอกเล่าเป็นเรื่องราวเข้าใจง่าย ในรูปแบบงานวารสารที่ใครหลายคนอาจคุ้นหูในชื่อ Data Journalism

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทางวารสารศาสตร์แบบเดิมอาจไม่สามารถช่วยย่อยข้อมูลมหาศาลให้กระชับหรือเห็นภาพ ได้มากเท่าที่ควร The Visual จึงมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาผสมผสานเพื่อช่วยให้การเล่าเรื่องดึงดูดและง่ายต่อการทำความเข้าใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างภาพ (Visualization) เว็บไซต์แบบ Interactive วิดีโอเล่าเรื่อง หรือ ภาพเสมือนจริงแบบ 360 องศา และอีกมากมาย 

The Visual มุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะหยิบยกข้อมูลสำคัญรอบตัวคุณ ซึ่งอาจถูกมองข้ามหรือยากที่จะทำความเข้าใจ มาส่งต่อเป็นเรื่องราวมากประโยชน์ และพร้อมเป็นพื้นที่ในการผลักดันวาระทางสังคม ไปสู่การเปลี่ยนแปลง ตามจุดมุ่งหมายหลัก 3 ประการดังนี้

  1. หยิบยกประเด็นสำคัญรอบตัว ที่อาจถูกมองข้ามหรือยากแก่การทำความเข้าใจ มานำเสนอผ่านชุดข้อมูลที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่า ให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์และตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นนั้น ๆ 
  2. เป็นฐานข้อมูลชั้นดีที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเอื้อให้ผู้อ่าน สามารถศึกษา อ้างอิง หรือนำไปต่อยอดทำประโยชน์ได้ 
  3. เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันวาระสำคัญทางสังคมไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียนไม่เพียงพอจริงหรือ?

โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 The Visual ได้เปิดตัวโปรเจคต์ชิ้นแรกในชื่อ “คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียนไม่เพียงพอจริงหรือ?” งาน Data Visualization ที่เกิดจากการตั้งข้อสังเกตง่าย ๆ ว่า “…กรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะน้อยจัง…” ที่นำพาทีมงานไปสู่ชุดข้อมูลมหาศาลและบทสรุปที่น่าตกใจว่า คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวใช้งานเฉลี่ยต่อคน น้อยจนน่าเป็นห่วง (ไม่ถึง 1 ตร.ม./คน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุงเทพฯ ที่ยังคงต้องพัฒนากันต่อไป ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ 

รถไฟฟ้า.. มหาความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อรถไฟฟ้าพาดผ่าน งานชิ้นนี้จะพาไปหาคำตอบของคำบ่นคำถามเกี่ยวกับราคาที่ดิน คอนโดฯ และเมือง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเติบโตของรถไฟฟ้าผ่านหลายชุดข้อมูล

มาต่อกันด้วยเรื่องที่ 2 ของ The Visual ในชื่อ “รถไฟฟ้ามหาความเปลี่ยนแปลง” ผลงาน Data Visualization ที่พาผู้อ่านไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงของเมืองกรุง ตลอด 2 ทศวรรษ ที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่าน ทั้งมิติกายภาพของเมือง ราคาที่ดินหรือจำนวนคอนโดมิเนียมที่เพิ่มสูงขึ้น และอีกหลากหลายแง่มุมที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ผ่านข้อมูลสถิติมหาศาล ย้อนหลังไปกว่า 10 ปี ซึ่งผ่านกระบวนการรวบรวม วิเคราะห์ และนำเสนอให้เข้าใจง่าย น่าสนใจ

ก้าวต่อไปของ The Visual

และในอนาคต The Visual ยังมีโปรเจกต์เกี่ยวกับข้อมูลเจ๋ง ๆ อีกมากมาย ที่เชื่อมโยงถึงหลากลายประเด็นในสังคม ซึ่งใครหลายคนอาจไม่ทันสังเกตุ อย่างเช่น เคยคิดกันเล่น ๆ ไหม ว่าทำไมวงการภาพยนตร์หนัง ละคร ทั้งบ้านเราและต่างประเทศ ถึงมีแต่ผู้กำกับผู้ชาย หรือ เคยสังเกตกันไหม ว่าสื่อละครไทยมีการนำเสนอตัวละครเอกที่เป็นชายรักชายเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลเหล่านี้บอกอะไร สะท้อนถึงความเท่าเทียมทางเพศได้มากน้อยแค่ไหน 

ร่วมหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ กับ “The Visual: เพศ / ซีรีส์ / ภาพยนตร์ เมื่อพื้นที่ของเรา…ไม่เท่ากัน” เร็ว ๆ นี้ ที่ https://thevisual.thaipbs.or.th/ 

ติดตามผลงาน